แท็งก์ความคิด : DATA เที่ยวเมืองรอง
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนชี้ทางรอดของประเทศไทยว่า ขึ้นกับการส่งออกและการท่องเที่ยว
ยิ่งในห้วงเวลาที่ประเทศเริ่มเปิด ผู้คนเริ่มมีความกล้าในการเดินทาง เพราะมั่นใจในระบบสาธารณสุขที่ต่อสู้กับโรคระบาดได้มากขึ้น ยิ่งเป็นความหวังในการกอบกู้วิกฤตที่เกิด
การท่องเที่ยวย่อมเป็นตัวช่วยสำหรับรายได้ของประเทศและประชาชน
ในขณะเดียวกัน เมื่อโลกเริ่มเปิด การเดินทางเริ่มมี การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ย่อมเป็นหนทางที่ดีสำหรับทุกชาติ
การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และอื่นๆ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศคือหนทางรอดที่มีความเป็นไปได้
วันก่อน ดีแทคชวนให้ฟังผลวิจัยการใช้ Mobility data เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองไทย
ฟังแล้วน่าติดตาม
งานวิจัยนี้ ดีแทคจับมือกับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ บุญมีแล็บ ค้นหาศักยภาพการท่องเที่ยวเมืองรอง
เมืองรองที่ว่ามีประมาณ 55 จังหวัดทั่วประเทศ
การวิจัยครั้งนี้ได้ตรวจวัดปริมาณการเคลื่อนที่ของผู้คนในช่วงวันหยุดยาว
วัดการเคลื่อนที่ผ่านโทรศัพท์มือถือ ภายใต้กรอบกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA
นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บอกว่า โครงการวิจัยนี้เป็นความร่วมมือของฝ่ายวิชาการ ภาครัฐ และภาคเอกชน นำร่องใช้ Mobility data เพื่อประโยชน์สาธารณะ
ผลการวิจัยได้แบ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มท่องเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ หรือเที่ยวแบบ Micro tourism 2.กลุ่มเที่ยวแบบค้างคืน 1 คืน และ 3.กลุ่มเที่ยวค้างหลายคืน หรือท่องเที่ยวระยะไกล
เมื่อจำแนกกลุ่มและดูเรื่องเวลา พื้นที่ การเคลื่อนที่ และปริมาณคน แล้วนำมาวิเคราะห์
พบว่า เมืองรองที่มีศักยภาพให้ท่องเที่ยวแบบ Micro tourism มี 16 จังหวัด
ได้แก่ นครศรีธรรมราช เชียงราย นครพนม ลำพูน นครนายก ระนอง เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี แม่ฮ่องสอน พัทลุง ราชบุรี นครสวรรค์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม สุพรรณบุรี และชุมพร
ส่วนเมืองรองที่มีศักยภาพสูงในการท่องเที่ยวแบบค้างคืน 1 คืน มี 21 จังหวัด
ได้แก่ นครศรีธรรมราช เพชรบูรณ์ เชียงราย อุบลราชธานี พิษณุโลก ชุมพร จันทบุรี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ เลย ตราด น่าน นครสวรรค์ อุดรธานี ลำปาง ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคราม สตูล ตรัง และชัยภูมิ
ขณะที่เมืองรองที่มีศักยภาพท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด คือค้าง 2 คืน โดยได้วิเคราะห์กลุ่มจังหวัดที่น่าส่งเสริม
ได้แก่ 1.กลุ่มเมืองรองแฝงเมืองหลัก เป็นกลุ่มที่มีจังหวัดเมืองรองร่วมอยู่ด้วย แต่สมาชิกในกลุ่มโดยส่วนใหญ่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กลุ่มจังหวัดบุรีรัมย์-นครราชสีมา-สระบุรี
2.กลุ่มเมืองรองล้อมเมืองหลัก เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกโดยส่วนใหญ่เป็นจังหวัดเมืองรองอยู่ร่วมกับจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กลุ่มจังหวัดนครสวรรค์-ชัยนาท-สิงห์บุรี-อ่างทอง-พระนครศรีอยุธยา-ปทุมธานี
3.กลุ่มเพื่อนเมืองรอง เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีสมาชิกทั้งหมดเป็นจังหวัดเมืองรอง เช่น กลุ่มจังหวัดลำปาง-ตาก-กำแพงเพชร-นครสรรค์
และ 4.กลุ่มเมืองฝาแฝด เป็นกลุ่มที่มีสมาชิก 2 จังหวัด มีทั้งจับคู่ระหว่างเมืองหลักกับเมืองรอง และจับคู่ระหว่างเมืองรองด้วยกันเอง เช่น จังหวัดปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรา
รายละเอียดของการจับเดี่ยวจับคู่นั้นอยู่บนพื้นที่ของการเคลื่อนไหวของผู้คน
ข้อมูลเหล่านี้นำไปสู่จังหวัดเมืองรองที่ต้องการรักษาตัวเลข หรือต้องการเพิ่มพูนจำนวนนักท่องเที่ยว
แต่ละจังหวัดสามารถนำเอาข้อมูลที่สำรวจตรวจพบนี้ไปขยายผล
หากเป็นจังหวัดที่คนไปเช้าเย็นกลับต้องหาสาเหตุว่าเกิดขึ้นจากอะไร หรือเป็นจังหวัดที่น่าเยือน แต่ยังไม่น่าค้างคืน
ดังนั้น อาจจะต้องหากิจกรรมอะไรมาดึงดูดให้คนตัดสินใจค้างคืน เช่น กิจกรรมที่ต้องดูในยามค่ำคืน เป็นต้น
เช่นเดียวกับจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวไปค้างคืน 1 คืน 2 คืน ก็จะได้แสวงหาหนทางให้ผู้คนติดใจและแวะเวียนย่านนั้นนานๆ
เมื่อมีนักท่องเที่ยวแวะค้าง ย่อมมีการใช้จ่าย และนำไปสู่รายได้ของจังหวัดและชุมชน
หากท้องถิ่นใดมีความพร้อมก็จะสามารถดูดซับรายได้เข้าท้องถิ่นได้ แต่ถ้าท้องถิ่นใดปล่อยให้ทุนต่างถิ่นเข้าไปทำมาหากิน รายได้ก็จะตกกับคนนอกท้องถิ่น
โครงการ Mobility data เป็นตัวอย่างการใช้ DATA เข้ามาช่วยในการพัฒนาเมือง เพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่น
โครงการนี้แม้ยังเป็นโครงการ “นำร่อง” และใช้เวลาวิจัย 2 ปีกว่าจะได้ข้อสรุป แต่หากสามารถทำได้เร็วขึ้น วิเคราะห์ได้แม่นยำ การวางแผนก็จะรอบคอบ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดีใจที่แม้ดีแทคจะวุ่นอยู่กับข่าวควบรวม แต่ก็ยังเดินหน้าคิดค้นนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา
พัฒนาคน พัฒนาเมือง พัฒนาท้องถิ่น
พัฒนาอย่างมีทิศทาง
ด้วยข้อมูลที่เรียกว่า Mobility data เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการท่องเที่ยวเมืองรอง