วันพุธ ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564, 07.30 น.
เมื่อภัยอันตรายจากโควิดบุกเข้ามายังประเทศไทย หน่วยงานต่างๆก็พยายามค้นหาอุปกรณ์และวิธีการป้องกันรักษาโรคร้ายอย่างเต็มที่ รวมทั้งโรงพยาบาลรามาธิบดี และบริษัทโตโยต้า(ประเทศไทย) ที่ได้ช่วยกันพัฒนาหุ่นยนต์ไทย เพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด
หุ่นยนต์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วย CISTEMSRAMA BOT เป็นหุ่นยนต์เพื่อใช้ดูแลผู้ป่วย ในการส่งอาหารให้ผู้ป่วย การส่งยาเวชภัณฑ์ การส่งอุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณชีพ และการสื่อสารกับผู้ป่วยผ่านตัวจอที่ติดตั้งให้หุ่นยนต์ รวมทั้งการใช้ระบบอินเตอร์เน็ต (IoT) ที่สามารถควบคุมได้จากระยะไกลข้ามจังหวัดได้ ทำให้มีความปลอดภัยในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย เป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโดวิด โดยช่วยให้เจ้าหน้าที่ลดการสัมผัสผู้ป่วยแต่ยังคงให้การรักษาพยาบาลได้เป็นอย่างดี
วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธีรับมอบ หุ่นยนต์ปฏิบัติการ CISTEMSจำนวน 8 ตัว จากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลทางภาคใต้ อีก 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลป่าตอง โรงพยาบาลยะลา โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลสตูล
CISTEMS เป็นหุ่นยนต์อเนกประสงค์ทางการแพทย์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเอง และสามารถเพิ่มเติมและดัดแปลงให้เหมาะกับการใช้งานหลากหลายพื้นที่ สามารถประยุกต์การใช้งานได้ในหลายรูปแบบ ตามโจทย์ผู้ใช้งาน เพื่อจะช่วยงานเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่หน้างานได้
หุ่นยนต์CISTEMS RAMA BOT ดังกล่าว เกิดจากการพัฒนาของ บุคคลากรของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลนำโดย ดร.สรยุทธ ชำนาญเวช เพื่อใช้ในปฏิบัติการส่งอาหารและยาแก่ผู้ป่วยติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยหลังจากการทดลองใช้มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้เข้าร่วมพัฒนาเพิ่มเติม โดยนำเทคโนโลยีในการผลิตรถยนต์ มาประยุกต์ให้มีความเหมาะสมในทางการแพทย์มากขึ้น ทั้งในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย การติดตั้งใช้งานและบำรุงรักษา รวมถึงการติดตั้งระบบสื่อสารด้วยอินเตอร์เน็ทความเร็วสูง และเซนเซอร์ตรวจจับเส้นทาง เพื่อใช้ควบคุมการทำงานให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถสื่อสารกับผู้ป่วยได้ในระยะไกลแทนการติดต่อโดยตรง ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อระหว่างการตรวจและติดตามอาการ ตลอดจนช่วยลดการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ ชุด PPE หน้ากากอนามัย และถุงมือยาง เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ยังได้สนับสนุนเงินในการจัดสร้าง ตลอดจนร่วมศึกษาปรับปรุงต้นทุนการผลิต และการติดตั้งเพื่อให้สามารถขยายผลการนำหุ่นยนต์ไปปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วย และการปฏิบัติการของแพทย์ในวงกว้างต่อไป
หุ่นยนต์ดังกล่าวมีน้ำหนัก 40 กก. สามารถขนย้ายสิ่งของได้หนัก 10 กก. ต้นทุนการผลิตราวตัวละ 1 แสนบาท ให้บริการผู้ป่วยได้ 19คน เช่นส่งอาหาร ยา เยี่ยมไข้และประชุมทางไกล ควบคุมการเคลื่อนที่ด้วยระบบอินเทอร์เนตทำให้สามารถบังคับได้ในระยะไกลข้ามทวีป เหมาะสำหรับงานที่ซ้ำซาก งานเสี่ยงอันตราย และงานสกปรก