“แมลงวันขายาว” เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายเป็นอันดับ 4 ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด พบทั่วโลกมากกว่า 7,000 ชนิด และในประเทศไทย พบมากกว่า 80 ชนิด แต่ล่าสุด นักวิจัยไทยค้นพบชนิดใหม่ของโลกอีก 1 ชนิด ให้ชื่อว่า “แมลงวันขายาวปีเตอร์อาจารย์จุฑามาส” ซึ่งเป็นชื่อตามอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์
แมลงวันขายาวหลักๆ จะอาศัยอยู่ในป่าชายเลน อย่างที่เคยพบมาแล้ว 2 ชนิดที่ประเทศสิงคโปร์ เช่นเดียวกับชนิดนี้ ที่นักวิจัยพบครั้งแรก ที่หน่วยวิจัยป่าชายเลนตำมะลัง อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล ลักษณะเด่นชัดของแมลงวันขายาว คือ ส่วนที่ยื่นออกจากทางด้านล่างของส่วนสืบพันธุ์เพศผู้ มีลักษณะคล้ายรองเท้าบู๊ต มีปล้องหนวดหนาและใหญ่ ลำตัวมีสีเขียวอมทอง ตัวเล็กสุดจะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 1 มิลลิเมตร และใหญ่สุดที่พบราว 6 – 7 มิลลิเมตร
บทบาทที่สำคัญ เป็นแมลงวันนักล่า ในระบบนิเวศป่าชายเลน เนื่องจากจะกินสิ่งมีชีวิตจำพวกลูกน้ำที่เป็นต้นกำเนิดของยุง และตัวอ่อนของริ้นน้ำเค็ม ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคน หรือสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ซึ่งเปรียบเสมือนตัวควบคุมสมดุลของระบบนิเวศให้มีความสมบูรณ์
ปัจจุบัน สามารถพบได้ในป่าชายเลนตำมะลัง จ.สตูล แห่งเดียวเท่านั้น ยังไม่มีการสำรวจพบในพื้นที่อื่นของประเทศไทย หากป่าชายเลนมีสภาพที่สมบูรณ์ เราก็จะยังพบแมลงวันขายาวชนิดนี้ต่อไป
เราสามารถใช้สัตว์กลุ่มนี้ ประเมินถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในป่าชายเลนได้ เพราะกลุ่มนี้ไวมากโดยเฉพาะหากมีคนไปกวนระบบป่าชายเลนที่กลุ่มนี้อาศัยอยู่ หรือแม้กระทั่งอุณหภูมิ ความร้อนของดินเลนที่สูงขึ้น จะมีผลต่อการอยู่รอด
การค้นพบแมลงวันขายาวชนิดใหม่ของโลกครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าทรัพยากรในบ้านเรามีความหลากหลายทางชีวภาพที่สูงมาก … เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมรอไม่ได้
Facebook : CH7HD Social Care